การนั่งสมาธิ ฝึกจิตให้สงบ ก็คือการนั่งกรรมฐาน หรือสมถกรรมฐานนั่นเอง เมื่อจิตสงบแม้จะเป็นเวลาแค่เล็กน้อยก็ยังดี หากเราทำบ่อย ๆ ก็จะยิ่งเกิดผลดีมากขึ้น ยิ่งได้ทำทุก ๆ วัน จิตก็ยิ่งสงบได้เร็วยิ่งขึ้น ทุกท่านสามารถทำได้ตามแต่ที่ได้ร่ำเรียนมา หากยังไม่เคยทำสมาธิมาก่อนจะทดลองทำตามแบบของผู้เขียนดูก็ได้ ซึ่งเป็นการนั่งสมาธิแบบง่าย ๆ
โดยเริ่มต้นหลังจากสวดมนต์ไหว้พระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นั่งสงบใจในท่านั่งสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาซ้อนทับมือซ้าย ยืดกายให้ตรงสบาย ๆ ไม่ต้องเกร็งอย่ายืดตัวจนเมื่อย หรืองอหลังจนผ่อนคลายเกินไป มือที่วางซ้อนกันให้วางซ้อนทับกันแบบสบาย ๆ ไม่ต้องเกร็งน้ำหนักมือ ให้นิ้วโป้งแตะปลายนิ้วโป้งอีกข้างหนึ่งไว้ แล้วจึงหลับตาลง หลับตาให้หนังตาและดวงตามีความผ่อนคลายสบาย ๆ ไม่เกร็งหนังตาหรือดวงตาให้แน่นจนปิดสนิทหรือตึงเกินไป เมื่อเรารู้จักท่าทางการนั่งสมาธิกันแล้ว เราก็มาเริ่มทำกันต่อไป
เมื่อรู้วิธีนั่งสมาธิในรูปแบบที่ผ่านมาแล้วเราก็มาเริ่มผ่อนคลายจิตใจให้สงบโดยการนั่งพักให้จิตสงบให้หายเหนื่อยจากการสวดมนต์ก่อน แล้วจึงนั่งขาขวาซ้อนทับขาซ้าย มือขวาวางซ้อนทับมือซ้าย ค่อย ๆ หลับตาลงช้า ๆ หายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ เมื่ออากาศเข้าไปอยู่ในปอดอยู่ในท้องจนเต็มเท่าที่จะหายใจเข้าได้ เมื่อรู้สึกว่าไม่สามารถหายใจเข้าได้อีกแล้ว ก็ค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ จนหมดแล้วจึงเริ่มหายใจเข้าใหม่ เมื่อสูดลมหายใจเข้าจนสุดแล้วก็เริ่มผ่อนลมหายใจออกอีก ทำอย่างนี้สัก 3-4 รอบ จิตใจจะค่อย ๆ สงบลง การหายใจแบบนี้นำไปใช้ขณะที่เราเหนื่อย ตกใจ กลัว ตื่นเต้น หรือขณะที่หัวใจเต้นเร็วและแรงเกินไปก็จะสามารถทำให้ร่างกายกลับสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น
ขั้นตอนต่อไป เราก็มาปรับสมดุลการหายใจเข้าออกของเราให้ได้ตามแบบเฉพาะตัวเราเอง โดยการหายใจให้มีความรู้สึกสบาย ๆ ไม่ต้องยาวหรือสั้นเกินไป ให้สังเกตเอาพอแต่ใจเราสบาย ๆ กำหนดรู้การหายใจเข้าให้พอแต่มีความรู้สึกว่าหายใจเข้า ไม่ต้องเครียดหรือสนใจจนเกินไป แล้วจึงหายใจออกช้า ๆ สบาย ๆ ให้แค่รู้ว่าหายใจออก ทำแบบเดียวกันนี้บ่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ อย่าเอาใจไปจดจ่อกับการหายใจเข้าหรือออกมากนัก เอาแต่รู้ว่าหายใจเข้าและหายใจออกก็พอ ใช้จิตจับไว้ที่ลมหายใจ ให้รับรู้ว่ามีลมหายใจอยู่ไม่ต้องสนใจสิ่งอื่น ๆ สิ่งใด ๆ ในความคิด แค่ให้มีสติอยู่ว่า เรายังมีลมหายใจอยู่ เรากำลังหายใจอยู่โดยไม่เผลอหลับหรือตื่น (อย่ารับรู้เสียงหรือสิ่งรอบข้างมากจนเกินไป) เมื่อจิตเป็นกลางไม่หลับไม่ตื่น จิตจะเริ่มว่าง ให้ระวังกำหนดจิตอย่าให้หลับและไม่ตามจิตออกไปสู่ภายนอก ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกที่กายเท่านั้น
หากผู้ใดเคยภาวนา พุทโธ สัมมาอะระหังหรือภาวนาพระมนต์บทใดก็ดีก็แล้วแต่ที่เคยทำมาทุกอย่างอยู่ที่จิตของแต่ละคน เคยทำมาแล้วดีแล้วก็ทำต่อไป อย่าคิดว่าผู้อื่นภาวนาแบบนี้แล้วจิตสงบ ฉันก็จะเอาแบบเขาบ้างนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะจิตของคนแต่ละคนต้องการองค์ภาวนาไม่เหมือนกัน บางคนอาจต้องการองค์ภาวนาสั้น ๆ แต่บางคนชอบบทที่ยาวกว่าเพื่อปรับจิตให้สงบเราจึงควรหมั่นสังเกตตัวเราเองว่าจะทำอย่างไรให้จิตของเราสงบ เมื่อรู้แล้วก็หมั่นจดจำและเพียรกระทำให้ได้เสมอ ๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนเกิดแต่การที่เราได้กระทำขึ้นแล้วทั้งสิ้น หากต้องการจะทำสมาธิภาวนาในขั้นตอนต่อ ๆ ไปที่มากขึ้นก็ขอให้สอบถามจากผู้รู้เอาเถิด อย่าเป็นผู้หลงใหลในตัวเองจนไม่ใส่ใจหาความรู้เพิ่มเติมอีก เพราะท่านที่รู้จริงยังมีอีกมาก ขอให้อ่อนน้อมเข้าหาท่าน
เมื่อเราปฏิบัติสมาธิภาวนาพอสมควรแล้วเท่าที่เราจะทำได้ไม่ต้องกำหนดเวลาให้เป็นกังวล ทำเท่าที่ร่างกายของเราพร้อมแล้วจึงค่อย ๆ ถอนลมหายใจออกจากสมาธิช้า ๆ โดยการหายใจเข้าและหายใจออกให้ยาว ๆ สัก 2-3 รอบ พอร่างกายเป็นปกติแล้วจึงหยุดปฏิบัติ แล้วจึงเริ่มกรวดน้ำแผ่เมตตาให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อ ๆ ไป จิตของเราก็จะเกิดความเมตตาและพบกับความสุขยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องเสียเงินทองเราก็สามารถสร้างเสริมบุญบารมีให้กับตัวเองและผู้อื่น ตามแบบพิธีโบราณ ๆ ทดลองทำกันดูนะ สิ่งดีดีจะบังเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย เมื่อเราได้กระทำในสิ่งดีดี